วันอาทิตย์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ที่มาของ @ ก่อนที่จะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของอีเมล์



เรย์ ทอมลินสัน วิศวกรคอมพิวเตอร์ ได้รับการบันทึกว่า เป็นบุคคลแรกที่นำ @ มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของชื่ออีเมล์ ในปี 1971 เพียงเพราะเขาต้องการหาสัญลักษณ์บางอย่างบนแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ ซึ่งแน่ใจว่าจะไม่มีปรากฏในชื่อของใครคนใดคนหนึ่ง
        โดยหลังจากนั้นมา การใช้ @ (arroba)ในชื่ออีเมล์เพื่อบอกสังกัดอีเมล์ของผู้ใช้ก็กลายเป็นธรรมเนียม ปฏิบัติต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้
        หากจะถามถึงที่มาของ @ ก่อนที่จะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของอีเมล์นั้น ไม่ปรากฏเป็นที่แน่ชัดว่า ใครเป็นคนแรกที่นำมาใช้ เนื่องจากมีหลากหลายทฤษฎีอธิบายเอาไว้แตกต่างกันออกไป
        ทฤษฎีแรกนั้นสันนิษฐานว่า @ ปรากฏให้เห็นเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในยุคกลางของยุโรป ซึ่งในสมัยนั้นคนยุโรปจะชอบเขียนตัวหนังสือแบบลากหางของตัวอักษรขึ้นหรือลง ยาวๆ ซึ่งตัว @ มาจาก a นั่นเอง


        ขณะที่อีกทฤษฎีหนึ่ง ซึ่งค่อนข้างเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไประบุว่า @ มาจากคำว่า 'ad' ซึ่งเป็นคำบุพบทในภาษาลาติน หมายถึง "ที่" ในทำนองเดียวกัน ก็มีอีกแนวคิดที่คล้ายๆ กันอธิบายว่า @ เป็นตัวย่อของ 'ana' (ava) คำบุพบทในภาษากรีก ซึ่งมีหมายความว่า ในอัตรา (ตามด้วยคำบอกจำนวน) โดยมีการนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในเชิงการพาณิชย์
        จากการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ของ จิออร์จิโอ สตาบิล ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์จากโรม มีการเสนอแนวคิดใหม่เกี่ยวกับที่มาของ @ โดยเขาอ้างว่า สัญลักษณ์ดังกล่าว เคยมีร่องรอยปรากฏให้เห็นตั้งแต่สมัยเรอเนสซองซ์ของอิตาลี ในเอกสารการค้าแห่งเวนิส ซึ่งลงนามโดย ฟรานเซสโก ลาปี เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 1536 เนื้อหาในเอกสารดังกล่าวเป็นเรื่องเกี่ยวกับสัญญาการซื้อขายไวน์ โดย @ ที่ปรากฏในเอกสารนี้มีความหมายว่า โถ หรือ เหยือก ซึ่งใช้เป็นภาชนะบรรจุไวน์ในสมัยนั้น อาทิเช่น @ of wine หมายถึง ไวน์ 1 เหยือก เป็นต้น
        สัญลักษณ์ @ ที่ พบว่ามีการใช้อย่างแพร่หลายในตะวันตก มีที่มาจาก à ซึ่งเป็นบุพบทในภาษาฝรั่งเศส หมายถึง "ที่" ทว่าเมื่อนำมาใช้ในเชิงการค้าจะหมายถึง "ราคาชิ้นละ" ตัวอย่างเช่น 2 books@ 10 F. หมายถึง หนังสือ 2 เล่ม ราคาเล่มละ 10 บาท เป็นต้น
        ทั้งนี้ ถึงแม้จะมีหลากหลายทฤษฎีที่อธิบายที่มาที่ไปของการใช้ @ มาตั้งแต่อดีตแล้ว แต่การใช้สัญลักษณ์ดังกล่าวเพิ่งจะได้รับความนิยมสุดๆ ในแวดวงคอมพิวเตอร์ในยุคปัจจุบันนี่เอง